Hinghoynoy.org

กว่าจะเป็น "หิ่งห้อยน้อย"

ประมาณปลายฤดูร้อน (กลางเดือนพฤษภาคม ปี 2018) ในขณะที่เรากำลังยืนมองแสงอาทิตย์ที่กำลังหายไปริมทะเลสาบเวลายานี ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงในเมืองธิรุวนันทพุรามหรือทรีเวนดรัม รัฐเคราล่า ประเทศอินเดีย . ความฝันของเราก็ค่อย ๆ เผยตัวตนของมันออกมาท่ามกลางความมืด . เราไม่เคยเห็น “หิ่งห้อย” ตามธรรมชาติ นับร้อยนับพันที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวขนาดนั้นมาก่อน . และแล้วกวีของท่านรพินทรนารถ ฐากูร ก็ค่อย ๆ หวนกลับมาปรากฏในใจ . “The fireflies, twinkling among leaves, make the stars wonder. ” . เราจำบทกวีนี้ได้ขึ้นใจ เพราะเมื่อเราอายุได้ 12 ปี ตอนที่เราเสียพ่อไปอย่างกะทันหัน…เราเป็นเด็กที่หยุดเล่น แต่กลับมาหมกหมุ่นกับตัวเอง ด้วยการอ่านหนังสือมากมาย …มากเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะอ่านหนังสือให้ตัวเองมีความรู้สึกดีขึ้นได้ เพราะอยากจะหลุดพ้นจากความเสียใจ . แสงของ”หิ่งห้อย” ที่กะพริบวิบวับ เชื่อมโยงกับเรื่องราวขีวิตของเรา ลึกมากกว่าที่เราจะเข้าใจมันชัด ๆ . แม้แต่แสงสว่างดวงเล็ก ๆ ของมันจะน้อย แต่หิ่งห้อยกลับทำให้เราไม่กลัว แม้ว่าจะยืนอยู่ลำพังท่ามกลางความมืด . และนั่นทำให้เรา คิดที่จะใช้แมลงปีกแข็งชนิดนี้มาเป็นตัวแทนของเพื่อนของเด็ก ๆ ที่อยู่ในความมืดของความทุกข์ ความสับสน เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบางอย่างที่ผู้ใหญ่และสังคมไม่อนุญาตหรือไม่กล้าให้พวกเขารับรู้ หรือเปิดโอกาสให้พยายามทำความเข้าใจ . เราใส่คำว่า “น้อย” ไปหลังหิ่งห้อย เพื่อเน้นย้ำว่า กลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานนั้นเป็นเด็ก ๆ และเพื่อยืนยันด้วยว่า แม้พวกเขาจะเป็นเด็ก แต่พวกเขาก็จะต้องมีทางเจริญเติบโตและเปล่งแสงสว่างพวกนั้นได้ด้วยตัวเอง . สอดคล้องกับธรรมชาติของชีวิตจริงของหิ่งห้อย ที่มันจะต้องเติบโตขึ้นได้ เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสมบูรณ์มากพอ . นอกจากนั้นแสงกะพริบของหิ่งห้อย เป็นรหัสภาษาบางอย่างที่สื่อสารระหว่างกันและกัน . เมื่อเด็ก ๆ อยู่ในความมืด เราจะทำอย่างไรให้พวกเขาได้สื่อสาร . เราแทนให้ แสง มีความหมายเป็น สื่อ มีเดีย งานศิลปะ และแทนให้จังหวะการกะพริบแสง คือ ภาษา . Growing and glowing เติบโตและเปล่งแสงสว่าง จึงเป็นแท็กไลน์ที่เราคิดขึ้นเพื่อประกอบกับชื่อองค์กรที่เกิดจากเรื่องราวความฝันและความจริงของชีวิตทั้งหมดของเรา “หิ่งห้อยน้อย” . ในส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานสื่อสาร เราจะต้องสร้างภาพของ “หิ่งห้อยน้อย” ให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อทำให้คนที่รู้จักงานของเรา เข้าใจว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ . เราจึงวาดภาพหิ่งห้อยน้อย ที่มีปีกเป็นหนังสือ และมีก้นซึ่งเป็นหลอดไฟ ขึ้นมา . เราออกแบบให้คาแรกเตอร์ของมัน เป็นทั้งจินตนาการและความจริง เพราะเราอยากให้เด็กได้มีพื้นที่ปลดปล่อยและทำความเข้าใจกับโลกทั้งสองด้านไปพร้อม ๆ กัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันจำเป็นมากเมื่อเด็ก ๆ กำลังมีความทุกข์) . คืนแล้วคืนเล่า ที่เราเดินกลับไปนั่งดูแสงของหิ่งห้อย นับร้อยนับพันริมทะเลสาบเวลายานีและกลับมาคิด . เราร่างภาพของ “หิ่งห้อยน้อย” เป็นสิบเป็นร้อยภาพ และสื่อสารกับเพื่อน ๆ ที่เป็นศิลปิน เพื่อทำให้ หิ่งห้อยน้อยของพวกเขาเองได้ปรากฏตัวขึ้น . จนถึงวันนี้ เราไม่คิดว่า รูปร่าง หน้าตาของหิ่งห้อยน้อยมันจะต้องเป็นแบบที่เราคิดฝัน เราตั้งใจให้มันมีรูปร่าง หน้าตาอย่างไรก็ได้ . เราเคารพในความคิด ความฝันที่แตกต่างของคนทุกคน ดังนั้น”หิ่งห้อยน้อย” ของแต่ละคน จึงไม่เคยเหมือนกันเลย . ขอบคุณเพื่อนศิลปินทุกท่าน ที่เป็นส่วนหนึ่งของการมีอยู่ของความฝันของเรา . ส่วนหนึ่งจากบันทึกของรวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์
ผู้ก่อตั้งหิ่งห้อยน้อย