Hinghoynoy.org

รีวิวหนังทาบู : Period . End of Sentence.

Period End of Sentence เป็นหนังสารคดีจากอินเดีย ที่มีความยาวแค่ 20 นาทีกว่า ๆ และได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ครั้งที่ 91 อีกด้วย
 
พีเรียด (Period) ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง จุดลงท้ายประโยค หรือช่วงเวลาเท่านั้น แต่ในอีกความหมายหนึ่งคือ
เลือดประจำเดือน
 
ในประเทศอินเดีย คำว่าพีเรียด เป็นคำที่ถือได้ว่าต้องห้ามในสังคมหรือเป็น Taboo
เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากไม่อยากได้ยิน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก จนกระทั่งเกิดการเรียกร้องและขบวนการเคลื่อนไหวในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเรื่อง เลือดประจำเดือนกับศาสนา เรื่องเลือดประจำเดือนกับสุขภาพของผู้หญิง หรือเลือดประจำเดือนกับภาษีผ้าอนามัยที่โหดจนผู้หญิงต้องหันไปใช้อย่างอื่นแทน
 
สำหรับหนังสารคดีสั้นๆเรื่องนี้ ผู้กำกับนำเราไปที่เขต Hapur ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดียไปประมาณ 60 กิโลเมตร
 
หนังเปิดเรื่องด้วยการถามคำถามง่ายๆกับคนทั่วไป ทั้งเด็ก ผู้หญิงและผู้ชายในหมู่บ้าน ว่ารู้จัก พีเรียด หรือไม่
 
เด็กผู้หญิงบางคนหัวเราะคิกคัก แต่ไม่ยอมตอบคำถาม ในขณะที่เด็กผู้ชายเข้าใจว่า มันคือการบอกระยะเวลาเปลี่ยนคาบในชั้นเรียน และหญิงสาวบางคนเลือกที่จะเงียบไม่ยอมพูดอะไร
 
 
เมื่อถามผู้หญิงสูงวัยคนหนึ่งว่าทำไมผู้หญิงถึงมีเลือดประจำเดือน เธอตอบว่า มีพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ และมันเป็นเลือดสกปรกที่ออกมาจากร่างกายของผู้หญิง ผู้หญิงอีกคนที่มีลูกน้อย บอกว่าเลือดประจำเดือนเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดมา และนั่นคือทั้งหมดที่เธอรู้เกี่ยวกับมัน
 
ภาพตัดมาที่บรรยากาศในชั้นเรียน เด็กผู้หญิงถูกคุณครูประจำชั้นถามว่า พีเรียด คืออะไร แทบไม่มีเด็กผู้หญิงคนไหนกล้ายกมือ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งพยายามตอบคำถาม แต่ก็อึกอักจนไม่สามารถพูดต่อให้จบได้
 
ภาพตัดมาที่หญิงสาวอีกรายหนึ่ง เธอเล่าประสบการณ์การมีประจำเดือนในวัยเรียน อุปสรรคในการเปลี่ยนผ้าที่เอาไว้รองประจำเดือน ส่งผลให้เธอตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน
 
และเมื่อถามเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งเรื่องเลือดประจำเดือนกับความเชื่อทางศาสนา พวกเธอบอกว่า ผู้หญิงไม่สามารถสวดมนต์หรือเข้าไปในศาสนสถานได้ในช่วงที่มีประจำเดือน เพราะพวกผู้ใหญ่บอกว่า ต่อให้เราสวดมนต์แค่ไหน พระเจ้าก็จะไม่ได้ยินเรา
 
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนจำนวนมากในหมู่บ้านนั้น มีความรู้เกี่ยวกับเลือดประจำเดือนน้อยมาก และแม้ว่าจะรู้ก็เขินอายที่จะพูดออกมาตรงๆ และการมีประจำเดือนนั้นนำไปสู่การกีดกันในการเข้าถึงพื้นที่ทางศาสนาอีกด้วย
 
ในช่วงต่อมา สารคดีนำเราไปพบกับ ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า Sneha เธอลุกขึ้นมาต่อสู้กับความเชื่อที่ว่าเลือดประจำเดือนของผู้หญิงเป็นของสกปรกและทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปในศาสนสถานได้ เธอสนใจเรื่องโอกาสทางสังคมของผู้หญิงและมองว่า ผู้หญิงจำนวนมากได้รับผลกระทบหลังจากการแต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้ว ผู้หญิงไม่มีความเป็นอิสระ ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ทำงาน และเธออยากเป็นอิสระจากการแต่งงาน โดยการสมัครเข้าเป็นตำรวจ
 
ตัดภาพมาที่ผู้หญิงอีกคนหนึ่งชื่อ Rekha เธอเล่าให้เราฟังว่าการมีประจำเดือนนั้นทำให้เธอใช้ชีวิตยุ่งยากเพียงใด เธอต้องหาผ้าคอนต้อนที่ไม่ใช้แล้วมาซับเลือดประจำเดือน และนำไปโยนทิ้งในที่ห่างไกลเพื่อไม่ให้มีใครเห็น
 
ภาพตัดมาที่ Shabana เธอพยายามอธิบายเด็กผู้หญิงกลุ่มนึงเกี่ยวกับการใช้ผ้าซับเลือดประจำเดือนที่สะอาดและต้องผ่านการซัก หลังจากนั้นจึงแนะนำการใช้ แพด หรือผ้าอนามัย ให้กับเด็กสาว
 
ดูเหมือนมีแต่สาวๆที่ลุกมาพูดเรื่องเลือดประจำเดือน แล้วผู้ชายในสังคมล่ะ หายไปไหนหมด?
 
ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะขาดความรู้เลือดประจำเดือน Arunachalam คือชายผู้ที่ลุกมาทำงานเรื่องเลือดประจำเดือน เขาเป็นผู้คิดค้นเครื่องผลิตผ้าอนามัยราคาถูกให้กับชุมชนและสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยราคาถูก เพราะเนื่องจากผ้าอนามัยในอินเดีย เป็นสินค้าที่มีราคาแพง ทำให้เขามองเห็นความสำคัญของการผลิตผ้าอนามัยเองในชุมชน จนกระทั่งนำไปสู่การสอนให้กลุ่มผู้หญิงผลิตผ้าอนามัยและออกจำหน่ายไปตามหมู่บ้าน และร้านค้า ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยราคาถูกและเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้หญิงในชุมชนนั่นเอง
 
ถ้าอยากรู้เรื่องของชายคนนี้เพิ่มขึ้น
แนะนำให้อ่านบทความนี้ค่ะ
 
ในช่วงท้ายๆสารคดีเรื่องนี้ จะเป็นการเล่าเรื่องกระบวนการทำผ้าอนามัย การสาธิตการใส่ผ้าอนามัยให้สาวๆดู และการออกไปขายผ้าอนามัยตามบ้าน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมที่เกี่ยวกับเรื่องเลือดประจำเดือนด้วยค่ะ
 
โดยสรุป สารคดีเรื่องนี้ อธิบายเรื่องสภาพปัญหาของผู้หญิงอินเดียกับเลือดประจำเดือน ปํญหาการเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย และการรวมกลุ่มกันทำงานของกลุ่มผู้หญิงเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมที่เชื่อว่า การพูดเรื่องเลือดประจำเดือนเป็นเรื่องต้องห้าม และการมีประจำเดือนของผู้หญิงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ สกปรก ต้องปกปิด จนส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนไม่มีความรู้ที่จะดูแลรักษาความสะอาด และต้องเผชิญกับการตีตราจากสังคม การล้อเลียนจากเพื่อนๆที่โรงเรียน จนนำไปสู่การออกจากระบบการศึกษาและโรคภัยไข้เจ็บจากการไม่รู้วิธีรักษาความสะอาดในช่วงที่มีประจำเดือน
 
สิ่งที่เราชอบในสารคดีเรื่องนี้คือ การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างกระชับ แม้ว่าจะใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่ก็ทำให้เราเห็นภาพของปัญหาและความเชื่อเรื่องเลือดประจำเดือนได้ดี และยังทำให้เรารู้สึกถึงพลังของผู้หญิงที่รวมตัวกันลุกมาเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อในสังคมเรื่องเลือดประจำเดือน จนกระทั่งทำให้ผู้หญิงมีช่องทางในการเข้าถึงผ้าอนามัยราคาถูกมากขึ้น
 
สำหรับใครที่สนใจเรื่องปัญหาเกี่ยวกับเลือดประจำเดือนและผู้หญิงในอินเดีย สารคดีเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจในการทำความเข้าใจสภาพปัญหาและกระบวนการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและทำให้ผู้หญิงเข้าถึงการจัดการเรื่องเลือดประจำเดือนในค่อนข้างดีทีเดียวค่ะ
 
 
Period. End of Sentence หนังปี 2018
ความยาว 25 นาที
กำกับโดย Rayka Zehtabchi
นักเขียนรับเชิญ
ดาราณี ทองศิริ (ปลา) นักสิทธิที่มีความฝันอยากให้คนเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทำสื่อบอกเล่าเรื่องเพศ ผ่านเพจเฟมินิสต้าและเว็บไซต์ www.feminista.in.th