Hinghoynoy.org

"มนุษย์ถ้วย" และทางเลือกที่หลากหลายของเพื่อนเมนส์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ( 17 พ.ค.2563) ได้เข้าไปจอยกับกลุ่ม ศาลายาเนี่ยน และกลุ่ม #หิ่งห้อยน้อย แจกถุงยังชีพเล็ก ๆ ที่ทางพี่ ๆ ศาลายาเนี่ยนเตรียมการมา และผ้าอนามัยที่พี่รวงแห่งหิ่งห้อยน้อย นำเงินที่ได้รับการบริจาค มาจัดซื้อให้
.
ช่วงโควิดนี้ คนพูดถึงถุงยังชีพกันมากมาย แต่น้อยคนจะกล่าวถึง #ผ้าอนามัย ของจำเป็นที่ผู้หญิงต้องใช้ทุกเดือน และเสียเงินอย่างน้อย 50 บาทต่อเดือนไปกับมัน เงิน 50 บาทในช่วงโควิดนี้อาจเป็นค่าอาหารประทังชีวิตถึงสองวันได้ ดังนั้นสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบค่าผ้าอนามัยจะถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ท้ายลิสต์
.
เมื่อไม่มีค่าผ้าอนามัย ผู้หญิงก็เลือกจะไม่ออกจากบ้านช่วงที่มีเมนส์แทน ความรู้สึกอึดอัดใจที่มีเลือดเมนส์เป็นเหมือนโซ่ล่ามไว้กับที่ เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากนำผ้าอนามัยไปบริจาคแล้ว ทางหิ่งห้อยน้อยยังได้นำเอา #ผ้าอนามัยซักได้ และ #ถ้วยอนามัย ไปแนะนำให้ชุมชนรู้จักด้วย ผ้าอนามัยซักได้และถ้วยอนามัยนั้น แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน แต่มันคือสิ่งที่จะมาแทนผ้าอนามัย ช่วยลดรายจ่ายในระยะยาว ลดขยะผ้าอนามัย และเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิต
. ผ้าอนามัยซักได้ มีต้นทุนต่ำ สามารถตัดเย็บได้เองในครัวเรือน ซึ่งทางหิ่งห้อยน้อยจะดำเนินการทำแจก แจกแพทเทิร์นตัดเย็บ คำแนะนำการเลือกผ้ามาตัดเย็บต่อไป วิธีทำความสะอาดผ้าอนามัยซักได้ คือโยนแช่น้ำไว้ ซักผ้าตามปกติ นำมาใช้ซ้ำได้จนกว่าจะเปื่อยขาด
. ถ้วยอนามัย มีราคาแพงกว่า เป็นของต้องซื้อ ทำเองในครัวเรือนไม่ได้ ใช้อย่างน้อยสักหนึ่งปีถึงจะคืนทุน และต้องฝึกใส่กันสักสองสามรอบเดือนถึงจะใส่ได้ บางคนอาจไม่สามารถใส่ได้เพราะโครงสร้างร่างกายไม่สามารถสอดถ้วยได้ เช่น จิ๋มล็อค แต่ข้อดีของถ้วยคือสะดวกสบาย ล้างถอดใส่ง่าย แห้งสบายตัว ใส่ว่ายน้ำได้ถ้าจำเป็น
. หลายคนในชุมชนอยากลองตัดผ้าอนามัยซักได้ด้วยตัวเอง บางคนถามว่า หมดเมนส์แล้วแต่อยากลองใส่ถ้วยอนามัยใส่ได้ไหม ก็ขำกันไปเป็นสีสัน
. ส่วนตัวเราใช้ถ้วยอนามัย เราเข้าใจว่าคนไทยยังมีอะไรที่ต้องก้าวข้ามอีกเยอะกว่าจะหันมาผลิตภัณฑ์รองรับเลือดประจำเดือนทางเลือกใหม่แบบนี้ ทั้งเรื่องเลือดเมนส์เป็นของสกปรกห้ามพูดถึง กางเกงในผู้หญิงเป็นของต่ำ ห้ามให้ใครเห็นหรือแสดงให้ใครรู้ว่ามีเมนส์ และการใส่ถ้วยอนามัยเข้าช่องคลอด ก็มีความเชื่อเรื่องพรหมจรรย์ ความคับความหลวมของอวัยวะเพศเพื่อมัดใจชาย เข้ามาเป็นอุปสรรค แต่อย่างน้อย ทางหิ่งห้อยน้อยก็ได้เริ่มกระจายข้อมูลความรู้ออกไปแล้ว เป็นก้าวแรก ๆ ให้ผู้หญิงและเด็กหญิงในสังคมเห็นว่า มันโอเคนะ ที่จะพูดและเรียกร้องสิทธิของตัวเองที่เกี่ยวพันกับสุขภาวะทางเพศ
.
ขอขอบคุณกำลังใจและการสนับสนุนจากคุณจอม- จอมเทียน จันสมรัก บล็อกเกอร์และนักเขียนอิสระเจ้าของเพจ Jomtian.Jom Survivor and sexual violence activist – Mental Health Activists นักกิจกรรมหญิงรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนประเด็นการรณรงค์การคุกคาม ความรุนแรงทางเพศ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย รวมทั้งเป็นเพื่อนเมนส์อีกคน ที่อยู่ในกลุ่มนักกิจกรรมหญิงที่พูดถึงประจำเดือน ผ่านประสบการณ์การใช้ #ถ้วยอนามัย หรือ #ถ้วยรองประจำเดือน ในพื้นที่การทำงาน