Hinghoynoy.org

หิ่งห้อยน้อย ทาบูและระบบเซนเซอร์ออนไลน์
(Hinghoy Noy , Taboo and Online censorship)

ก่อนที่เราจะเข้าไปสู่สาระของเรื่องที่จะพูดคุยเป็นครั้งแรกบนบล็อกแห่งนี้ ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขออนุญาตทุกคนแนะนำองค์กรหิ่งห้อยน้อย (HingHoy Noy) ให้ทุก ๆ คนได้รู้จักกันก่อน เนื่องจากองค์กรของเรายังเป็นน้องใหม่และยังไม่ค่อยมีใครรู้จักงานที่เราทำกับเด็ก ๆ มากนักในช่วงปีแรก 🙂
“หิ่งห้อยน้อย” เป็นองค์กรที่ผลิตสื่อดิจิทัลมีเดียและสร้างพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยในประเด็นทาบูและข้อมูลที่อ่อนไหวซึ่งเด็กและเยาวชนไม่สามารถพูด คิด หรือแสดงความคิดเห็นในสังคมได้อย่างเปิดเผย เช่น เพศศึกษา ความรุนแรงภายในครอบครัว การกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนและโลกไซเบอร์ การล่วงละเมิดทางเพศ การทำแท้งปลอดภัย ความหลากหลายทางเพศ โรคบางชนิดและความพิการ เป็นต้น ผู้เขียนซึ่งเคยทำงานเป็นนักพัฒนาหนังสือสำหรับเด็กในมูลนิธิแห่งหนึ่ง ได้มีโอกาสทำงานและรับฟังความลับต่าง ๆ ของเด็กมาหลายปี พบว่า มีเด็ก ๆ จำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจและร่างกาย เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงและแสดงออกถึงข้อมูลบางอย่างที่ถูกสังคมปิดกั้นได้ ผู้เขียนจึงใช้ชื่อ “หิ่งห้อยน้อย” เป็นชื่อขององค์กร เพื่ออยากจะเป็นเพื่อนของเด็ก ๆ ที่กำลังตกอยู่ในความมืดของการไม่เข้าถึงเรื่องเหล่านั้น เราอยากให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีเพื่อนสักคนคอยรับฟังใกล้ ๆ พร้อมกับสนับสนุนให้กล้าลุกมาพูดและเข้าถึงข้อมูลซึ่งเป็นความลับดำมืดที่พวกเขาทำความเข้าใจ (ดูที่มาการก่อตั้งหิ่งห้อยน้อยเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์ https://www.youtube.com/watch?v=PRmpOUtStp0&t=378s ) โดย ผู้เขียนจะขอเรียกประเด็นเหล่านี้เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “ทาบู” หรือ Taboo ซึ่งในภาษาไทยแปลว่า เรื่องต้องห้าม
สังคมไทยไม่คุ้นกับคำว่า “ทาบู” แต่ก็อยู่กับเรื่องที่พูดไม่ได้
คำว่า “เรื่องต้องห้าม” ในสังคมไทยเองยังไม่ได้ถูกนำถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อตีความถึงความหมายให้แพร่หลายและชัดเจนนัก แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่าในบริบทของเราก็มีเรื่องและข้อมูลอีกมากมาอย่างความเชื่อ ข้อปฏิบัติของสังคมที่รู้กันว่าถูกห้ามไม่ให้พูดหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว
ผู้เขียนพบว่าปัจจุบันในชุมชนออนไลน์ก็เริ่มคุ้นเคยกับประสบการณ์เกี่ยวกับทาบูบางอย่างมากขึ้นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ผ่านระบบเซนเซอร์ที่มีการห้าม การปกปิด และการไม่อนุญาตให้เข้าถึงหรือพูดถึงประเด็นอีกหลายประเด็น สังเกตได้จากคำศัพท์หลายคำที่เริ่มนำมาใช้และเป็นที่เข้าใจระหว่างผู้คนในชุมชนออนไลน์ด้วยกัน เช่น เพจปลิว โดนแบน ถูกบล็อค โดนรีพอร์ท เป็นต้น
เมื่อระบบเซนเซอร์ออนไลน์ได้ออกมาจำกัดและลงโทษคนที่พูดถึงเนื้อหาดังกล่าวที่ระบบตั้งค่าว่าไม่ควรพูด คนในชุมชนออนไลน์ที่ได้เห็นตัวอย่างการจัดการของระบบจึงค่อย ๆ เรียนรู้ว่า แอคเคาท์ของตนเองอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการตรวจสอบบางอย่าง ไม่สามารถเผยแพร่คำศัพท์หรือบทสนทนาบางอย่างที่ถูกตั้งค่าขึ้นว่า ไม่เหมาะสมที่จะกล่าวถึงหรือเผยแพร่ได้ พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงบทสนทนาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการที่ถูกปิดกั้น หรือระงับการใช้บัญชีซึ่งเปรียบเสมือนตัวตนของพวกเขา
สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติคล้ายกับการเซนเซอร์ตัวเองหรือ Self censorship เพราะมีการระงับความคิด ก่อนที่จะแสดงออกหรือตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับปรากฏการณ์ทาบูเหล่านั้น
ยิ่งหากเราพิจารณาความหมายของคำว่า “ทาบู” หรือ Tapu ตามหลักมนุษยวิทยาที่พบหลักฐานเป็นครั้งแรกหรือเป็นที่มาของรากศัพท์นี้จากหมู่เกาะโพลินีเชียประกอบด้วย เราก็จะพบว่าความหมายของคำว่า ทาบู ดั้งเดิมที่แปลว่า การห้ามที่ถูกกำหนดขึ้นในวัฒนธรรมและสังคมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มีอำนาจควบคุมความคิดของคนให้รู้สึกกลัว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าแสดงออกนั้น มีความใกล้เคียงกับบริบทการใช้คำว่าทาบู หรือ Taboo ของยุคปัจจุบันเช่นกัน ทาบูจึงเป็นคำศัพท์จัดเป็นคำที่ไม่ได้มีความชัดเจนและยังคงมีคลุมเครืออยู่ในตัวมันเอง ผู้เขียนคิดว่าเพราะทาบูจึงเป็นสิ่งไม่มีใครกล้าพูดพูด ไม่ให้คิด ไม่ให้ทำ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ฝ่าฝืนและพูดถึงทาบูจะต้องได้รับการลงโทษซ้ำไปอีก มันจึงทำให้ความหมายของทาบูยังกว้างและไม่ชัดเจน
เราจึงต้องนิยามให้คำ ๆ นี้ให้ยืดหยุ่นเช่นเดียวกัน ทาบูในความหมายของเราจึงกว้างมาก เพราะมันคือบทสนทนาที่มืดดำ เป็นเรื่องที่คนไม่กล้าแตะต้อง และเมื่อใดก็ตามที่มีคนพูดถึงประเด็นทาบูเหล่านั้นขึ้นมา พวกเขาจะต้องถูกลงโทษและถูกตัดสิน ทั้งในแง่ของจารีตประเพณีและกฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาบูของเด็ก ๆ ที่อยากรู้เมื่อไหร่ก็ถูกห้าม ถูกทำโทษ
อย่าชิงสุกก่อนห่าม เด็กยังไม่ถึงวัยที่ควรรู้ :
ทาบู และระบบเซนเซอร์ของเด็ก ๆ
ในสังคมไทย ยังมีเรื่องอีกหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ ไม่ได้พูดกับเด็กอย่างเปิดเผย อย่างเช่น เรื่องเพศ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การป้องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น แม้ว่าเราจะมีหลักสูตรวิชาบางวิชาที่เปิดประสบการณ์เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่บ้างที่โรงเรียน แต่ก็ใช่ว่าข้อมูลนั้นจะชัดเจนและตรงไปตรงมา ดังนั้นการตระหนักถึงการทำความเข้าใจของประเด็นทาบูและเรื่องที่อ่อนไหวจากครอบครัวและสถานศึกษาเอง ก็ยังไม่เปิดรับและเปิดกว้างมากพอที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงหรือแสดงออกในเรื่องและสิทธิบางประการที่พวกเขาสงสัยและอยากรู้อีกเป็นจำนวนมากได้ ประกอบกับโครงสร้างของสังคมไทยที่เด็กยังคงถูกทำให้มีเสียงเล็กกว่าผู้ใหญ่ ตราบใดเด็กถูกมองว่ามีอำนาจน้อยกว่าผู้ใหญ่และต้องถูกควบคุมภายใต้กรอบระเบียบที่ผู้ใหญ่เป็นคนสร้าง
ดังนั้นถ้าเราลองเปรียบทาบูของด็ก ให้เข้าใจง่าย และอยู่ในบริบทการทำงานของหิ่งห้อยน้อยแล้ว “ทาบู” จึงถูกตีความให้หมายความถึงประเด็นหลาย ๆ อย่าง ที่เด็กและเยาวชน ถูกผู้ใหญ่หรือสังคมจำกัดการเข้าถึงและปกปิดไม่ให้ทำความเข้าใจ เหมือนกับระบบเซนเซอร์ หรือ Censorship ที่เราตั้งขึ้นมาให้กับเด็กโดยเฉพาะนั่นเอง
ทำไมเรื่องที่เด็กอยากรู้ ถึงถูกผู้ใหญ่ปิดกั้นไม่ให้รู้?
เมื่อทาบูและระบบเซนเซอร์ คือระบบการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลบางอย่าง บวกกับการทำงานบนพื้นที่ออนไลน์และใช้สื่อดิจิทัลมีเดียของหิ่งห้อยน้อย มีหลายครั้งที่สื่อสำหรับเด็กของเรา ถูกระบบการรักษาความปลอดภัยจากแพลทฟอร์มที่เลือกใช้ทำงาน แบนและบล็อค ไม่ให้ข้อมูลเหล่านั้นส่งไปยังเด็ก ทั้งที่สังคมเองก็เห็นความต้องการกลุ่มเป้าหมายว่า เด็กเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเพศศึกษา อนามัยเจริญพันธุ์ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่กลับพบว่าการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวบนเพจ Hinghoy Noy ไปยังเด็กไม่สามารถประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลได้ (ในบางกรณีเป็นภาพประกอบ) และเมื่อเราสอบถามไปยังผู้ให้บริการแพลทฟอร์ม เราก็ไม่ได้รับคำตอบเพื่ออธิบายเหตุผลต่อการระงับการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมาแต่อย่างใด
ผู้เขียนจึงเกิดความสงสัยว่า แล้วใครกันที่เป็นคนกำหนดสิทธิของการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้กับเด็ก ใครกันที่มีอำนาจมากที่สุดในการปิดกั้น และเขาเหล่านั้นมีเหตุผลอะไรบ้างที่ใช้อำนาจที่มีมาบล็อค แบน ปิดกั้น เซนเซอร์สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญในการใช้ชีวิตของพวกเขา ดังนั้นเด็ก ๆ จึงถูกห้ามเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่อ่อนไหวทั้งออฟไลน์และออนไลน์ !!!
หิ่งห้อยน้อยจึงพยายามอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ข้อมูลที่จำเป็นดังกล่าวส่งไปถึงเด็ก ๆ โดยไม่ถูกระบบเซนเซอร์ในพื้นที่ออนไลน์ปิดกั้นต่อการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น เพราะข้อมูลดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขา และถ้าเราต่างเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เด็กเองก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับพวกเขาได้อย่างเสรีบนพื้นที่ออนไลน์เทียบเท่ากับผู้ใหญ่ เด็กควรจะรู้เหตุผลที่พวกเข้าถูกห้ามด้วยเช่นกัน
ระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมที่ผ่านมา หิ่งห้อยน้อยซึ่งได้รับการสนับสนุน โดยองค์กร Internews ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในค่าย Coconet: South East Asia digital right camp ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในโอกาสนี้ ผู้เขียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนบทสนทนาหลาย ๆ อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการทำงานซึ่งเชื่อมโยงทาบูและระบบเซนเซอร์โดยตรง ผ่านการระดมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายดิจิทัลจากนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอที นักข่าว ศิลปิน ผู้สร้างภาพยนต์ ที่มาจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก
 
หลังจากที่ได้เข้าร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่ช่วยอัพเดทสถานการณ์การทำงานว่า ขณะนี้ในพื้นที่ออนไลน์หลายแพลทฟอร์ม มีเรื่องที่เป็นทาบูมากมายที่ไม่สามารถพูดและแสดงความคิดเห็นโดยเสรี ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเพศศึกษา อัตลักษณ์ทางเพศ การทำแท้งปลอดภัย สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การเมืองและสิ่งแวดล้อม โดยเพื่อน ๆ บางคนที่เข้าร่วมได้แบ่งปันประสบการณ์จริงเป็นผลกระทบจากการเผยแพร่ข้อมูลบนพื้นที่ออนไลน์ไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ผู้เขียนฟังและเพื่อความเคารพในการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของเพื่อน ๆ ทุกคน ผู้เขียนจึงขออนุญาตปกปิดข้อมูลภาพ ชื่อ และองค์กรของผู้ให้ข้อมูล
ทาบูเพราะความเชื่อของศาสนา
A เล่าประสบการณ์การทำงานให้ฟังว่า เขาเป็นมุสลิม ซึ่งเป็นไบเซ็กชวล ทำงานด้านการทำแท้งปลอดภัย เจนเดอร์ และเพศศึกษาให้วัยรุ่นในมาเลเซีย เขาประสบปัญหาหลาย ๆ อย่างในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัล แม้ว่าองค์กรของเขายังไม่ถูก กฏหมายเล่นงาน แต่ในชีวิตจริงหลายครั้งที่ A ถูกประณามโดยคนในชุมชนออนไลน์ ถูกลอบทำลายรถยนต์ ต้องย้ายที่อยู่เร่งด่วน เพราะถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกาย เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับงานที่เขากำลังทำอยู่ A เพราะมองว่าเป็นเรื่องผิดบาป A ประสบปัญหาในการขอทุนทำงาน บวกกับประเทศมาเลเซีย ยังมีกฏหมายและจารีตประเพณีอีกจำนวนมากที่ยังไม่เปิดรับข้อมูลในงานที่ A กำลังทำอยู่ A เล่าต่อว่า บางครั้งที่เขาต้องรับเคสเด็กผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เขารู้สึกเป็นห่วงและกดดันที่ต้องมารับรู้ว่า เด็กผู้หญิงมุสลิมในมาเลเซียถูกนำมาแต่งงานตั้งแต่เด็กและตั้งท้องเพราะในสังคมมุสลิมที่มาเลเซีย ยังมีการอนุญาตให้ผู้ชายแต่งงานกับเด็กได้ ทุกวันนี้ A ทำนิตยสารใต้ดินที่เรียกว่า Zine ที่เป็นชื่อย่อจาก Magazine ซึ่งเป็นกระดาษแผ่นพับขนาดเล็ก ๆ อย่างเรียบง่าย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้กับกลุ่มเป้าหมายโดยปราศจากการควบคุมของรัฐ
ภาพศิลปะที่ถูกตัดทอน บิดเบือน
I เป็นศิลปินหญิงรุ่นใหม่ของอินโดนีเซีย งานศิลปะของเธอแพร่หลายมากในสื่อโซเชียลออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม โดยเฉพาะภาพวาดพอเทรทของเหล่านักต่อสู้นักกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองและการปลดปล่อยดินแดนต่าง ๆ ให้เป็นอิสระในประเทศ เธอเล่าว่า แม้ภาพของเธอซึ่งไม่ได้มีข้อมูลเช่นเดียวกันกับข่าวหรือรายงาน แต่ผลงานของเธอก็ถูกคนที่ไม่เห็นด้วยบนโลกออนไลน์ที่ไม่ระบุชื่อ ถูกขโมยลิขสิทธื์โดยการบิดเบือนและดัดแปลง จนทำให้คนที่ติดตามผลงาน ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ภาพศิลปะชิ้นไหนเป็นของเธอกันแน่ ปัจจุบันในชีวิตจริงของ I ถูกคุกคามและติดตามจากคนนิรนามจำนวนหนึ่งที่พยายามข่มขู่เธอ
ข้อตกลงก่อนเราจะมีอะไรกัน
ไม่ใช่เรื่องทะลึ่งลามก
E คือเควียร์ซึ่งจากมาเลเซีย พวกเขาทำงานด้านสื่อดิจิทัล และสนใจที่จะเปิดบทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ และรสนิยมทางเพศกับผู้คนบนพื้นที่ออนไลน์ E คิดว่าภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “หนังโป๊” นั้น ถูกผลิตขึ้นมาในสังคมชายเป็นใหญ่ และไม่ได้สร้างทางเลือกให้ผู้หญิง รวมทั้งกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากนัก การเผยแพร่ความตระหนักในการทำเรื่องนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะว่าหนังโป๊ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย และแทบทุกประเทศทั่วโลกไม่ยอมรับ E บอกว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการเรียกร้องสิ่งนี้เพื่อทำเรื่องลามกอนาจาร แต่เพราะเพื่อที่จะสร้างความตระหนักให้กับผู้คน เกี่ยวกับ consent หรือการยินยอมพร้อมใจระหว่างกันและกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากการบังคับ ข่มเหงกัน
ทาบู คือเสียงที่เปล่งออกไปไม่ได้
ถูกอำนาจที่มากกว่าข่มขู่ให้กลัว
และทำให้ไม่มีใครรู้ว่ามันมีอยู่!
 
เรื่องราวจากเพื่อน ๆ ในค่าย แม้ว่าอาจจะมีบางเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นของเด็กและเยาวชนโดยตรงทุกเรื่อง แต่ผู้เขียนเองก็คิดว่า งานหลายอย่างที่พวกเรากำลังพูดถึงอยู่นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้คนแต่กลับกำลังถูกอำนาจบางอย่างของคนที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าปิดกั้น ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำงานอยู่ในสังคมใดและบริบทใดก็ตามทั้งออฟไลน์และออนไลน์ คนในชุมชนพื้นที่นั้น ๆ ก็ยังมีทาบูและระบบเซนเซอร์ซึ่งควบคุมให้เราไม่ให้พูด ไม่ให้คิด ไม่ให้ทำ ไม่ให้แสดงออกอยู่ดี
 
การปิดกั้นผ่านระบบเซนเซอร์ออนไลน์ที่ตั้งค่าโดยตรงจากผู้มีอำนาจซึ่งผลิตและออกแบบสื่อเทคโนโลยีโดยผู้มีอำนาจ จึงกลายเป็นเครื่องมือใหม่ที่ปรากฏเป็นนโยบาย-กฎหมาย-กฎหมู่ เพื่อควบคุมไม่ให้คนที่มีอำนาจน้อยกว่าในพื้นที่นั้นส่งเสียง และหากมีใครฝ่าฝืน ต่อต้าน คนเหล่านั้นก็จะถูกทำโทษ ตั้งแต่การลดทอน การบิดเบือน การปิดกั้นไปจนถึงขั้นข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และใช้กฎหมายจองจำ
 
ทาบูกับระบบเซนเซอร์จึงเกี่ยวข้องกัน เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนในสังคมนั้น ๆ ไม่รับรู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ เหมือนถูกบังคับให้ต้องปิดหู ปิดตา ปิดจมูก ปิดปาก และทำให้กลัวเพื่อจะทำให้ฝ่ายที่มีอำนาจมากที่สุด ไม่ถูกสั่นคลอนด้วยการสูญเสียอำนาจที่มีอยู่
กฎหมายดิจิทัล เปิดเสรีภาพของพลเมืองในพื้นที่ออนไลน์
 
ปัจจุบันโลกไซเบอร์ที่เปิดกว้าง ผู้คนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและออกมาแสดงออกได้ง่ายขึ้น เรียกได้พวกเรารับรู้ข่าวสารได้สะดวกสบายทุกที่ทุกเวลา คนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กันจึงรวมตัวก่อให้เกิดชุมชนมากมาย รวมถึงกลุ่มที่พูดถึงทาบูหลายประเด็นอย่างเรื่องเพศ ความหลากหลายทางเพศ การเมือง ศาสนา และเรื่องอ่อนไหวบางอย่างที่สังคมเคยไม่กล้านำมาพูดอย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่สาธาธารณะ คนทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งที่อยู่ใกล้ ไกลจึงได้เชื่อมโยงเข้าถึงข้อมูลและเห็นโลกได้มากและหลากหลายแง่มากขึ้น
 
สำหรับระยะเวลาเพียงหนึ่งปีที่องค์กรหิ่งห้อยน้อยและผู้เขียนได้ทำงานเผยแพร่สื่อสำหรับเด็กดิจิทัลบนพื้นที่ออนไลน์ เราก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า แพลทฟอร์มออนไลน์ที่เราทำงานอยู่ มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากเข้ามารับชมข้อมูล เข้ามาบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่สบายใจ ซักถามข้อสงสัย และแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยเฉพาะเรื่องทาบูและประเด็นอ่อนไหวที่พวกเขาไม่กล้าพูดกับผู้ใหญ่ในชีวิตปกติด้วย (จากการเก็บข้อมูลครั้งล่าสุด ระหว่าง 1 สิงหาคมถึง 27 ตุลาคม 2562 เฟสบุ๊คเพจ Hinghoy Moy มีผู้เข้าถึง 577,426 audiences, 55,979 engagements, 2,345 shared )
 
เราเข้าใจว่าทุกสังคม ทุกพื้นที่ ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์จะต้องมีการดูแลความสงบสุขและความปลอดภัยของสมาชิกในชุมชนนั้น ๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังมีข้อจำกัดของวุฒิภาวะ และยังต้องได้รับการดูแลใส่ใจภายใต้การดูแลจากผู้ใหญ่เป็นพิเศษ เรายินดีที่จะปฏิบัติตามในเงื่อนไขของข้อตกลงและระเบียบข้อบังคับที่เป็นประโยชน์ เคารพความเป็นส่วนตัวและรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกในชุมชน หากทว่าข้อมูลที่จะต้องจำกัดนั้นจะต้องไม่ใช่การถูกแบน ถูกบล็อค และถูกปิดกั้นจากระบบเซนเซอร์ออนไลน์ที่ปราศจากเหตุผล และเป็นการปิดกั้นเสรีภาพ
 
การถูกปิดกั้นด้วยผู้มีอำนาจตัดสินใจในระบบทางเดียวทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากจะหมดโอกาสที่ได้เข้าถึงข้อมูลที่พวกเขาจำเป็น องค์กรหิ่งห้อยน้อยและผู้เขียนจึงขอสนับสนุนให้เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและแสดงออกอย่างเสรีบนโลกไซเบอร์ ตราบใดที่ทุกคนเป็นพลเมืองดิจิทัล พวกเราจะต้องมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูล เข้าใจและมีส่วนร่วมในสร้างข้อตกลงและกฎหมายดิจิทัล รวมไปถึงการมีอำนาจ มีสิทธิ มีเสียง มีตัวตน ได้รับการดูแลและปกป้องเท่ากันกับผู้ใหญ่ เด็กจึงต้องได้รับเสรีภาพและได้เข้าถึงสิ่งที่เขาอยากรู้ตามพื้นฐานของสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน
 
รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์
ประสบการณ์จากค่าย Coconet: South East Asia digital right camp ปี 2019