สังคมไทยไม่คุ้นกับคำว่า “ทาบู” แต่ก็อยู่กับเรื่องที่พูดไม่ได้
คำว่า “เรื่องต้องห้าม” ในสังคมไทยเองยังไม่ได้ถูกนำถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อตีความถึงความหมายให้แพร่หลายและชัดเจนนัก แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่าในบริบทของเราก็มีเรื่องและข้อมูลอีกมากมาอย่างความเชื่อ ข้อปฏิบัติของสังคมที่รู้กันว่าถูกห้ามไม่ให้พูดหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว
ผู้เขียนพบว่าปัจจุบันในชุมชนออนไลน์ก็เริ่มคุ้นเคยกับประสบการณ์เกี่ยวกับทาบูบางอย่างมากขึ้นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ผ่านระบบเซนเซอร์ที่มีการห้าม การปกปิด และการไม่อนุญาตให้เข้าถึงหรือพูดถึงประเด็นอีกหลายประเด็น สังเกตได้จากคำศัพท์หลายคำที่เริ่มนำมาใช้และเป็นที่เข้าใจระหว่างผู้คนในชุมชนออนไลน์ด้วยกัน เช่น เพจปลิว โดนแบน ถูกบล็อค โดนรีพอร์ท เป็นต้น
เมื่อระบบเซนเซอร์ออนไลน์ได้ออกมาจำกัดและลงโทษคนที่พูดถึงเนื้อหาดังกล่าวที่ระบบตั้งค่าว่าไม่ควรพูด คนในชุมชนออนไลน์ที่ได้เห็นตัวอย่างการจัดการของระบบจึงค่อย ๆ เรียนรู้ว่า แอคเคาท์ของตนเองอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการตรวจสอบบางอย่าง ไม่สามารถเผยแพร่คำศัพท์หรือบทสนทนาบางอย่างที่ถูกตั้งค่าขึ้นว่า ไม่เหมาะสมที่จะกล่าวถึงหรือเผยแพร่ได้ พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงบทสนทนาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการที่ถูกปิดกั้น หรือระงับการใช้บัญชีซึ่งเปรียบเสมือนตัวตนของพวกเขา
สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติคล้ายกับการเซนเซอร์ตัวเองหรือ Self censorship เพราะมีการระงับความคิด ก่อนที่จะแสดงออกหรือตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับปรากฏการณ์ทาบูเหล่านั้น
ยิ่งหากเราพิจารณาความหมายของคำว่า “ทาบู” หรือ Tapu ตามหลักมนุษยวิทยาที่พบหลักฐานเป็นครั้งแรกหรือเป็นที่มาของรากศัพท์นี้จากหมู่เกาะโพลินีเชียประกอบด้วย เราก็จะพบว่าความหมายของคำว่า ทาบู ดั้งเดิมที่แปลว่า การห้ามที่ถูกกำหนดขึ้นในวัฒนธรรมและสังคมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มีอำนาจควบคุมความคิดของคนให้รู้สึกกลัว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าแสดงออกนั้น มีความใกล้เคียงกับบริบทการใช้คำว่าทาบู หรือ Taboo ของยุคปัจจุบันเช่นกัน ทาบูจึงเป็นคำศัพท์จัดเป็นคำที่ไม่ได้มีความชัดเจนและยังคงมีคลุมเครืออยู่ในตัวมันเอง ผู้เขียนคิดว่าเพราะทาบูจึงเป็นสิ่งไม่มีใครกล้าพูดพูด ไม่ให้คิด ไม่ให้ทำ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ฝ่าฝืนและพูดถึงทาบูจะต้องได้รับการลงโทษซ้ำไปอีก มันจึงทำให้ความหมายของทาบูยังกว้างและไม่ชัดเจน
เราจึงต้องนิยามให้คำ ๆ นี้ให้ยืดหยุ่นเช่นเดียวกัน ทาบูในความหมายของเราจึงกว้างมาก เพราะมันคือบทสนทนาที่มืดดำ เป็นเรื่องที่คนไม่กล้าแตะต้อง และเมื่อใดก็ตามที่มีคนพูดถึงประเด็นทาบูเหล่านั้นขึ้นมา พวกเขาจะต้องถูกลงโทษและถูกตัดสิน ทั้งในแง่ของจารีตประเพณีและกฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาบูของเด็ก ๆ ที่อยากรู้เมื่อไหร่ก็ถูกห้าม ถูกทำโทษ
อย่าชิงสุกก่อนห่าม เด็กยังไม่ถึงวัยที่ควรรู้ :
ทาบู และระบบเซนเซอร์ของเด็ก ๆ
ในสังคมไทย ยังมีเรื่องอีกหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ ไม่ได้พูดกับเด็กอย่างเปิดเผย อย่างเช่น เรื่องเพศ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การป้องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น แม้ว่าเราจะมีหลักสูตรวิชาบางวิชาที่เปิดประสบการณ์เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่บ้างที่โรงเรียน แต่ก็ใช่ว่าข้อมูลนั้นจะชัดเจนและตรงไปตรงมา ดังนั้นการตระหนักถึงการทำความเข้าใจของประเด็นทาบูและเรื่องที่อ่อนไหวจากครอบครัวและสถานศึกษาเอง ก็ยังไม่เปิดรับและเปิดกว้างมากพอที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงหรือแสดงออกในเรื่องและสิทธิบางประการที่พวกเขาสงสัยและอยากรู้อีกเป็นจำนวนมากได้ ประกอบกับโครงสร้างของสังคมไทยที่เด็กยังคงถูกทำให้มีเสียงเล็กกว่าผู้ใหญ่ ตราบใดเด็กถูกมองว่ามีอำนาจน้อยกว่าผู้ใหญ่และต้องถูกควบคุมภายใต้กรอบระเบียบที่ผู้ใหญ่เป็นคนสร้าง
ดังนั้นถ้าเราลองเปรียบทาบูของด็ก ให้เข้าใจง่าย และอยู่ในบริบทการทำงานของหิ่งห้อยน้อยแล้ว “ทาบู” จึงถูกตีความให้หมายความถึงประเด็นหลาย ๆ อย่าง ที่เด็กและเยาวชน ถูกผู้ใหญ่หรือสังคมจำกัดการเข้าถึงและปกปิดไม่ให้ทำความเข้าใจ เหมือนกับระบบเซนเซอร์ หรือ Censorship ที่เราตั้งขึ้นมาให้กับเด็กโดยเฉพาะนั่นเอง
ทำไมเรื่องที่เด็กอยากรู้ ถึงถูกผู้ใหญ่ปิดกั้นไม่ให้รู้?
เมื่อทาบูและระบบเซนเซอร์ คือระบบการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลบางอย่าง บวกกับการทำงานบนพื้นที่ออนไลน์และใช้สื่อดิจิทัลมีเดียของหิ่งห้อยน้อย มีหลายครั้งที่สื่อสำหรับเด็กของเรา ถูกระบบการรักษาความปลอดภัยจากแพลทฟอร์มที่เลือกใช้ทำงาน แบนและบล็อค ไม่ให้ข้อมูลเหล่านั้นส่งไปยังเด็ก ทั้งที่สังคมเองก็เห็นความต้องการกลุ่มเป้าหมายว่า เด็กเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเพศศึกษา อนามัยเจริญพันธุ์ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่กลับพบว่าการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวบนเพจ Hinghoy Noy ไปยังเด็กไม่สามารถประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลได้ (ในบางกรณีเป็นภาพประกอบ) และเมื่อเราสอบถามไปยังผู้ให้บริการแพลทฟอร์ม เราก็ไม่ได้รับคำตอบเพื่ออธิบายเหตุผลต่อการระงับการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมาแต่อย่างใด
ผู้เขียนจึงเกิดความสงสัยว่า แล้วใครกันที่เป็นคนกำหนดสิทธิของการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้กับเด็ก ใครกันที่มีอำนาจมากที่สุดในการปิดกั้น และเขาเหล่านั้นมีเหตุผลอะไรบ้างที่ใช้อำนาจที่มีมาบล็อค แบน ปิดกั้น เซนเซอร์สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญในการใช้ชีวิตของพวกเขา ดังนั้นเด็ก ๆ จึงถูกห้ามเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่อ่อนไหวทั้งออฟไลน์และออนไลน์ !!!
หิ่งห้อยน้อยจึงพยายามอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ข้อมูลที่จำเป็นดังกล่าวส่งไปถึงเด็ก ๆ โดยไม่ถูกระบบเซนเซอร์ในพื้นที่ออนไลน์ปิดกั้นต่อการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น เพราะข้อมูลดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขา และถ้าเราต่างเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เด็กเองก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับพวกเขาได้อย่างเสรีบนพื้นที่ออนไลน์เทียบเท่ากับผู้ใหญ่ เด็กควรจะรู้เหตุผลที่พวกเข้าถูกห้ามด้วยเช่นกัน